บทความบรรณารักษ์

International Literacy Day

 

เมื่อปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันการรู้หนังสือสากล” หรือ International Literacy Day เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาสำหรับการพัฒนาบุคคล ชุมชน และสังคมในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการจัดงานฉลองวันดังกล่าวจัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967)

 

ความสำคัญของวันการรู้หนังสือสากล

“วันการรู้หนังสือสากล” หรือ International Literacy Day มีเป้าหมายหลักเพื่อเน้นความสำคัญของการรู้หนังสือ (Literacy) ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชน รวมถึงผลักดันเจตนารมณ์การสร้างสังคมที่มีอัตราการรู้หนังสือและมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการพัฒนาไปมาก แต่ทุกวันนี้ มีเยาวชนและผู้ใหญ่กว่า 773 ล้านคน ที่ยังประสบปัญหาขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน (ข้อมูลจาก: UNESCO)

การให้ความสำคัญกับการรู้หนังสือถือเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติและสังคมโลก ทั้งนี้ เนื่องจากการรู้หนังสือเป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้คน เพื่อให้แสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง อันได้แก่ อิสรภาพจากความไม่รู้ อิสรภาพจากความยากจน อิสรภาพจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะหากมีความรู้และสามารถอ่านออกเขียนได้ ผู้คนก็จะสามารถปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัว สามารถหางานทำและมีรายได้ รวมทั้งยังช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเสรีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงศึกษาธิการให้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปีเป็นวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ ประเทศไทยจึงได้จัดกิจกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต (Literacy and Lifelong Learning)

Loading